ประวัติโรงเรียน
โรงเรียนชุมชนบ้านดง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ รหัสไปรษณีย์ 53120 โทรศัพท์ / โทรสาร 055-455182 สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดืตถ์ เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา(อนุบาล) ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ขยายโอกาส) เขตพื้นที่บริการการศึกษาโรงเรียนชุมชนบ้านดง ให้บริการการศึกษาแก่เด็กในวัยเรียน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 2 บ้านดง และหมู่ที่ 3 บ้านท้ายคุ้ง ตำบลพญาแมน ส่วนระดับมัธยมศึกษาให้บริการทุกหมู่บ้านของตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
โรงเรียนชุมชนบ้านดง ก่อตั้งเมื่อวันที่่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีพื้นที่ 24 ไร่ 32 ตารางวา มีบ้านพักครู 3 หลัง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอพิชัย ห่างจากศาลากลางอุตรดิตถ์ ประมาณ 50 กิโลเมตร เส้นทางติดต่ดคมนาคมสะดวก ปัจจุบันมีผู้บริหารชื่อ นายวิโรจน์ ปลิกแสง ตำแหน่ง ผู้บริหารโรงเรียนชุมชนบ้านดง
โรงเรียนชุมชนบ้านดง เดิมเรียกว่า “โรงเรียนประชาบาล ตำบลพญาแมน (วัดบ้านดง)” ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ซึ่งมีนายลมูล โกมลบุณย์ เป็นศึกษาธิการอำเภอพิชัย และมีนายศิริ คุ้มครองทรัพย์ เป็นครูใหญ่อาศัยศาลาการเปรียญวัดบ้านดงเป็นสถานศึกษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2483 ได้รับงบประมาณจากทางราชการจำนวน 600 บาท และระดมทุนจากชุมชนสมทบสร้างอาคารเรียนชั่วคราวจำนวน 1 หลัง 4 ห้องเรียน ไม่มีพื้นและฝาผนัง โดยจัดตั้งในที่ดินของโรงเรียนและทำการเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 ถึง ป.4 ซึ่งต่อมาอาคารเรียนทรุดโทรมผุพังไม่สามารถใช้การได้ จึงต้องกลับไปอาศัยศาลาการเปรียญวัดบ้านดงเป็นสถานศึกษาอีกครั้งหนึ่ง โดยเรียกชื่อโรงเรียนใหม่ว่า “โรงเรียนวัดบ้านดง”
ในปี พ.ศ. 2505 มีนายโชคชัย แดงมา เป็นครูใหญ่ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการทำการก่อสร้างอาคาร ขนาด 7 x 9 ตารางเมตร จำนวน 1 หลัง 5 ห้องเรียน ไม่มีฝ้าเพดานและฝาผนังกั้นห้อง จำนวน 70,000 บาท ซึ่งจัดสร้างในที่ดินของวัดและที่ดินของประชาชนที่อุทิศให้บางส่วน แล้วย้ายมาทำการจัดการเรียนการสอนในอาคารใหม่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2506 เรียกชื่อโรงเรียนใหม่ว่า “โรงเรียนบ้านดง” และโดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 ถึง ชั้น ป.4
ในปี พ.ศ. 2514 มีนายอำนาจ จำนงค์ เป็นครูใหญ่ โดยโรงเรียนประชาบาล ตำบลพญาแมน (วัดบ้านดง) ได้โอนไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนหลังที่ 2 ตามแบบ ป.1 ฉ ขนาด 8 x 40 ตารางเมตร จำนวน 5 ห้องเรียน จำนวน 150,000 บาท และในปีนี้ได้มีนายพยุง มาไชยะ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทนนายอำนาจ จำนงค์ ที่ย้ายไปดำรงตำแหน่งในสถานศึกษาอื่น และทางราชการได้อนุมัติให้โรงเรียนขยายชั้นเรียนได้ถึงระดับชั้น ป.7 โดยโรงเรียนได้เปิดทำการสอนในระดับชั้นป.5 เป็นปีแรก
ในปี พ.ศ. 2515 ได้รับงบประมาณสร้างบ้านพักครูจำนวน 1 หลัง ตามแบบกรมสามัญจำนวน25,000 บาท และสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2515
ในปี พ.ศ. 2516 ได้รับงบประมาณจัดสร้างโรงฝึกงานตามแบบองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน
1 หลัง จำนวน 45,000 บาท
ในปี พ.ศ. 2519 ได้รับงบประมาณจากคณะกรรมการสภาตำบล ซ่อมแซมอาคารเรียนหลังเก่า โดยซ่อมแซมโครงหลังคา เปลี่ยนสังกะสีใหม่ ตีฝาเพดานหน้ามุขและทำฝาผนังกั้นห้อง จำนวน 60,000 บาท และในปีนี้ได้รับงบประมาณสร้างบ้านพักครูอีก 1 หลัง จำนวนเงิน 45,000 บาท
ในปี พ.ศ. 2520 ได้รับงบประมาณสร้างบ้านพักครูเป็นหลังที่ 3 ในปีเดียวกันนี้คณะครูร่วมกับชุมชนร่วมกันจัดทำถังน้ำคอนกรีตจำนวนหนึ่งที่ เป็นเงินจำนวน 18,000 บาท และปีนี้โรงเรียนได้รับรางวัล โรงเรียนดีเด่น อันดับ 1 ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งต่อมาโรงเรียนได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่เป็น “โรงเรียนชุมชนบ้านดง”
ในปี พ.ศ. 2521 การจัดการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไป โดยยุบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ให้คงเปิดสอนได้แค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรประถมศึกษาใหม่เป็น “หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521”
ในปีการศึกษา 2522 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ฉ จำนวน 1 หลัง 3 ห้องเรียน ด้วยงบประมาณ 300,000 บาท
ในปีการศึกษา 2527 นายพยุง มาไชยะ ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ได้เกษียณอายุราชการ และในปีนี้ได้รับงบประมาณจัดสร้างส้วมแบบ สปช. 601 จำนวน 1 หลัง 4 ที่นั่ง
ในปีการศึกษา 2528 นายประทีป มาสูตร ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2530
ในปีการศึกษา 2530 โดยนายประนาม ปานสมบัติ ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โดยย้ายมาจากโรงเรียนชุมชนบ้านโคนในวันที่ 1 ตุลาคม 2530
ในปีการศึกษา 2535 โรงเรียนชุมชนบ้านดง ได้รับรับอนุมัติให้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดสอนระดับชั้น อ.1 – ม.3 โดยในปีนี้เปิดเรียนเพิ่มเติมในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นปีแรกจำนวน 2 ห้องเรียน และมีนักเรียนชั้น ม.1 จำนวน 52 คน
ในปีการศึกษา 2536 นายประนาม ปานสมบัติ นายสุวัฒน์ อินยิ้ม และสจ.อุทัย ภูริฉัตร ได้ดำเนินการขอสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ตามแบบ สปช.103/36 ในที่ดินของวัดจำนวน 6 ไร่ จำนวน 1 หลัง 4 ห้องเรียน ด้วยงบประมาณ 1 ,008,500 บาท
ในปีการศึกษา 2537 นายสุรศักดิ์ รุจิพจน์ ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 และมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จบการศึกษาจากโรงเรียนชุมชนบ้านดงเป็นรุ่นแรก และยังได้รับงบประมาณสร้างสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
ในปีงบประมาณ 2538 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารอเนกประสงค์แบบ สปช. 205/26 ราคา 1,200,000 บาท สร้างอาคารเรียนแบบ สปช. 105/29 จำนวน 1 หลัง 4 ห้องเรียน ราคา 1,640,000 บาท สร้างสนามบาสเกตบอลแบบ สปช. ราคา 125,000 บาท สร้างสนามฟุตบอลแบบ สปช. ขนาดกว้าง 72×109 ตารางเมตร ราคา 97,000 บาท
ในปีงบประมาณ 2539 ได้ต่อเติมชั้นล่างอาคารเรียนแบบ สปช. 105/29 จำนวน 4 ห้องเรียน และได้รับงบประมาณจังหวัดสร้างถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ยาว 125 เมตร จำนวน 140,000 บาท
ในปีการศึกษา 2540 ได้รับงบประมาณสร้างส้วมจำนวน 1 หลัง 4 ที่นั่ง จำนวน 94,000 บาทโดยสร้างด้านหลังหอประชุม 205/26
ในปีการศึกษา 2541 ได้รับงบประมาณซ่อมแซมเปลี่ยนสังกะสีหลังคาอาคารเรียนหลังเก่าจำนวน 63,000 บาท
ในปีการศึกษา 2542 ได้รับงบประมาณสร้างส้วมจำนวน 2 หลัง หลังละ 4 ที่นั่ง ด้วยงบประมาณหลังละ 110,000 บาท และได้จัดสร้างสนามวอลเลย์บอล สนามตะกร้อเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก(ค.ส.ล.) ทั้ง 2 สนามโดยใช้งบประมาณ 40,500 บาท
ในปีการศึกษา 2543 ได้จัดสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก(ค.ส.ล.) ขนาด 4×100 ตาราเมตร ผ่านหน้าอาคารเรียนมัธยมด้วยงบประมาณ 70,000 บาท
ในปีการศึกษา 2545 ได้ระดมทุนจัดทำผ้าป่าสามัคคีจัดซื้อคอมพิวเตอร์จำนวน 16 เครื่อง และติดตั้งพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ จัดเป็นห้องเรียนคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์
ในปีการศึกษา 2546 ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการศึกษาใหม่ เป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกำหนดให้โรงเรียนขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่การศึกษาของแต่ละจังหวัด โดยโรงเรียนชุมชนบ้านดงขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1
ในปลายปีการศึกษา 2546 นี้นายสุรศักดิ์ รุจิพจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนได้ยื่นขอลาออกจากทางราชการตามโครงการพัฒนาบุคลากรและลดกำลังคน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโดยได้รับอนุมัติให้ออกจากราชการได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547
ในปีการศึกษา 2547 ในวันที่ 23 กันยายน 2547 นายอุดมศักดิ์ จักรน้ำอ่าง ตำแหน่งผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ มารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านดงและต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ได้จัดหาเงินโดยการระดมทุนทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อการศึกษาสมทบเงินอุดหนุนทั่วไปก่อสร้างรั้วคอนกรีตจำนวน 178 ช่อง
ในวันที่ 9 มิถุนายน 2551 นายอุดมศักดิ์ จักรน้ำอ่าง ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1
ในปี พ.ศ. 2552 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 นายวิโรจน์ ปริกแสง ได้ย้ายมาลงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านดง และเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2561
ในปี พ.ศ. 2561 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 นางระเบียบ บุญมา ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านดง โดยย้ายมาจากโรงเรียนบ้านขอม และในวันที่ 30 กันยายน 2565 ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองกล้วย อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1
ในปี พ.ศ. 2565 วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ดร.ภาคิญ ไชยวงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพญาปันแดน ได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านดงจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันโรงเรียนชุมชนบ้านดง ตั้งอยู่เลขที่ 63 หมู่ที่ 3 ตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ 53120 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1 เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
วิสัยทัศน์โรงเรียน
โรงเรียนชุมชนบ้านดง มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมนำความรู้ มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา รักษ์สิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และดำรงชีวิต
ปรัชญาของโรงเรียน
นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา
แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี
.
คำขวัญของโรงเรียน
สะอาด มารยาทดี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
พันธกิจ
1. จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะในการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองจากการใช้สื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสม
2. พัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีทักษะตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3. จัดกิจกรรมปลูกฝังให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร
4. บริหารจัดการศึกษาโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน ตามหลักบริหาร โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
5. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
เป้าหมาย
1. นักเรียนทุกคนมีคุณธรรม จริยธรรม มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาเป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร
2. โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีเพียงพอ เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้
3. นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนมีความพึงพอใจในคุณภาพและการบริการ